8
สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน
เทศบาลตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
1. ด้านกายภาพ
เทศบาลได้ยกฐานะจากสุขาภิบาล เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒ เทศบาลตำบลตันหยงมัสเป็น ๑ ใน ๑6 เทศบาลของจังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๗.๒๔ ตารางกิโลเมตร อยู่ในอำเภอระแงะตั้งอยู่เกือบใจกลางจังหวัดนราธิวาสบนฝั่งทะเลตะวันออกของแหลมมลายู ห่างจากที่ตั้งศาลากลางจังหวัดนราธิวาส ๒๒ กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร ทางรถยนต์ประมาณ ๑,๓๔๐ กิโลเมตร และโดยทางรถไฟประมาณ ๑,๐๙๖ กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ที่ตั้งและอาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 5 องค์การบริหารส่วนตำบลตันหยงมัส
ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 11 หมู่ที่ 13 องค์การบริหารส่วนตำบลตันหยงมัส
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 องค์การบริหารส่วนตำบลตันหยงมัส หมู่ที่ 1 องค์การบริหารส่วนตำบลตันหยงลิมอ
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 7 องค์การบริหารส่วนตำบลบาโงสะโต
1.1 ที่ตั้งของหมู่บ้านหรือชุมชนหรือตำบล
ที่ตั้งของหมู่บ้านภายในเขตเทศบาล ประกอบด้วยจำนวน 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านตันหยงมัสที่มีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตเทศบาลตำบลตันหยงมัส/อีกส่วนหนึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลตันหยงมัส และหมู่ที่ 7 บ้านตลาดสถานีตันหยงมัส ทั้งหมู่บ้าน
กลุ่มองค์กรประชาสังคม ประกอบด้วยชุมชน ๗ ชุมชน ดังนี้
๑. ชุมชนเจริญศึกษา มี นางศรีนวล นิลโมทย์ เป็นประธานคณะกรรมการชุมชน
เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูง ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนเจริญศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ลักษณะของครัวเรือนอาศัยอยู่เป็นกลุ่มบ้านมีทั้งหมด ๓ กลุ่มบ้าน คือ กลุ่มบ้านข้างวัด กลุ่มบ้านหลังสถานีรถไฟ และกลุ่มบ้านทุ่งบ่อทอง มีราษฎรนับถือศาสนาพุทธร้อยละ ๘๐ ศาสนาอิสลาม ร้อยละ ๒๐ ราษฎรส่วนมากมีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย มีวิถีชีวิตโดยรวมแบบเครือญาติ มีความเอื้อเฟื้อโอบอ้อมอารีซึ่งกันและกัน อยู่กันฉันท์พี่น้อง เมื่อมีการแบ่งเขตชุมชนราษฎรจึงได้ตั้งชื่อชุมชนนี้ว่า ชุมชนเจริญศึกษา
๒. ชุมชนตลาดกลางผลไม้ มี นางสาวจรีรัตน์ รักษาชนม์ เป็นประธานคณะกรรมการชุมชน
เป็นชุมชนที่คาบเกี่ยวกับระหว่างหมู่ที่ ๗ และหมู่ที่ ๑ ของตำบลตันหยงมัส พื้นที่เป็นที่ราบสูงเป็นศูนย์รวมของสถานที่ราชการ รวมทั้งตลาดกลางผลไม้ในฤดูกาล (ลองกอง) ที่ใหญ่ที่สุดในตำบล ราษฎรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีแม่น้ำที่สำคัญ คือ คลองตันหยงมัส เมื่อมีการแบ่งชุมชน ชาวบ้านบริเวณนั้นจึงตั้งชื่อชุมชนนี้ว่า ชุมชนตลาดกลางผลไม้ โดยตั้งชื่อตามสถานที่ซื้อขายผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในตำบลตันหยงมัส
๓. ชุมชนโรงเรียนแหลมทอง มี นางสุพรรณี วังธนากร เป็นประธานคณะกรรมการชุมชน
เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูง ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนแหลมทองวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ลักษณะของครัวเรือนอาศัย มีราษฎรนับถือศาสนาพุทธร้อยละ ๘๐ ศาสนาอิสลามร้อยละ ๒๐ ราษฎรส่วนมากมีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย มีวิถีชีวิตโดยรวมแบบเครือญาติ มีความเอื้อเฟื้อโอบอ้อมอารีซึ่งกันและกัน อยู่กันฉันท์พี่น้อง เมื่อมีการแบ่งเขตชุมชนราษฎรจึงได้ตั้งชื่อชุมชนนี้ว่า ชุมชนโรงเรียนแหลมทอง
๔. ชุมชนวงเวียนลองกอง มี นางกวินทิพย์ ตั้งสงวนสิทธิ์ เป็นประธานคณะกรรมการชุมชน
เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่ม ซึ่งเป็นศูนย์รวมย่านธุรกิจ ร้านค้า ตลาด สถาบันการเงินของหมู่บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย ในใจกลางของย่านธุรกิจนั้นมีวงเวียนซึ่งมีรูปปั้นลองกองอยู่บนวงเวียนดังกล่าว สัญลักษณ์ลองกองนี้เป็นสัญลักษณ์ของผลไม้ที่ขึ้นชื่อของชาวตันหยงมัส เมื่อมีการแบ่งชุมชนราษฎรในกลุ่มบริเวณนี้จึงตั้งชื่อชุมชนนี้ว่า ชุมชนวงเวียนลองกอง
๕. ชุมชนสุขาภิบาล ๙ มี นายจีรวัฒน์ แซ่โง้ว เป็นประธานคณะกรรมการชุมชน
ชุมชนสุขาภิบาล ๙ มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสูง มีราษฎรไทยพุทธเชื้อสายจีนนับถือศาสนาพุทธเป็นจำนวนมาก มีสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาของชาวจีน ที่สำคัญ ๒ แห่ง คือ สถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวจีน (โรงเจ) และสมาคมจีนตันหยงมัส ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้าง ประชาชนนับถือศาสนาพุทธร้อยละ ๗๐ ศาสนาอิสลามร้อยละ ๓๐ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนตั้งอยู่บนถนนสุขาภิบาล ๙ เมื่อมีการจัดตั้งชุมชน ประชาชนในพื้นที่จึงได้ตั้งชื่อชุมชนนี้ว่า ชุมชนสุขาภิบาล ๙
๖. ชุมชนโรงภาพยนตร์ มี นายฮัมรี สาแม เป็นประธานคณะกรรมการชุมชน
ชุมชนโรงภาพยนตร์ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่พื้นที่ราบสูง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของนายทุน ราษฎรเช่าที่เพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัย มี ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มบ้านหลังโรงภาพยนตร์ กลุ่มบ้านโรงฆ่าสัตว์ ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย และรับจ้าง มีผู้นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ ๗๐ นับถือศาสนาพุทธร้อยละ ๓๐ สถานที่ที่สำคัญในเขตชุมชนนี้ คือ ในอดีตเคยเป็นโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์แห่งเดียวในเขตอำเภอระแงะ ซึ่งประชาชนในตำบลข้างเคียงเข้ามาใช้บริการจนเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป และพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนตั้งอยู่หลังโรงภาพยนตร์ดังกล่าว เมื่อมีการแบ่งเขตชุมชน จึงได้ตั้งชื่อชุมชนว่า ชุมชนโรงภาพยนตร์
๗. ชุมชนดารุสสลาม มี นางสาวนิดัสมีนี ลอโมง เป็นประธานคณะกรรมการชุมชน
ชุมชนดารุสลาม เป็นชุมชนที่มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบสูง ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้างราษฎรร้อยละ ๘๐ นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ ๒๐ นับถือศาสนาพุทธ ชุมชนดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนดารุสลาม ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอระแงะ มีนักเรียนประมาณ ๔,๐๐๐ กว่าคน โรงเรียนดังกล่าว มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีของบคนทั่วไปทั้งในและนอกจังหวัด เมื่อมีการแบ่งชุมชนย่อยราษฎรจึงให้ตั้งชื่อชุมชนว่า ชุมชนดารุสสลาม
1.2 ลักษณะภูมิประเทศ
เทศบาลตำบลตันหยงมัส มีลักษณะพื้นที่เป็นพื้นที่ราบ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งชุมชนพักอาศัย มีลำน้ำสำคัญไหลผ่านเขตเทศบาล เรียกว่า “คลองตันหยงมัส” ซึ่งจะไหลผ่านอำเภอยี่งอลงสู่คลองยะกัง และไหลลงแม่น้ำบางนราในเขตอำเภอเมืองออกสู่ทะเล
1.3 ลักษณะภูมิอากาศ
เป็นแบบมรสุมเขตร้อน แบ่งออกเป็น 2 ฤดู ได้แก่
ฤดูฝน แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดเอาความชื้นจากทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียเข้ามาทำให้มีฝนตกชุกในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม อีกช่วงหนึ่งก็คือช่วงที่รับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดเอาความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามา ทำให้ฝนตกชุกอีกในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม
ฤดูร้อน ฤดูร้อนอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน เนื่องจากได้รับลมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนที่พัดมาจากทะเลจีนใต้ ทำให้อากาศโดยทั่วไปร้อนและชื้น โดยมีอุณหภูมิ เฉลี่ย 27.29 องศาเซลเซียส
1.4 ลักษณะของดิน
ลักษณะของดินเป็นดินร่วน ประกอบด้วย ทราย โคลนตม และดินเหนียว โดยมีปริมาณดินทรายและดินเหนียวไม่มากนัก ดินชนิดนี้จะมีช่องว่างระหว่างเม็ดดินมาก ทำให้น้ำซึมได้สะดวกแต่การอุ้มน้ำน้อยกว่าดินเหนียว เหมาะสำหรับปลูกพืชส่วนใหญ่